tripgether.com

คนชอบเที่ยวต้องรู้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่จำเป็นขณะออกทริป

690 ครั้ง
5 ก.พ. 2568

การเตรียมตัวก่อนการเดินทางเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสายท่องเที่ยวอย่างเรา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้แต่หลายคนอาจละเลยคือ การเตรียมกล่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น และสำคัญคือความรู้เรื่องการปฐมพยาบาล เพราะเราคาดเดาไม่ได้ว่าขณะเดินทางอาจจะมีอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ วันนี้น้องเป็ดเลยจะมาแชร์ความรู้เกี่ยวกับ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างพวกเรากัน


คนชอบเที่ยวต้องรู้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ที่จำเป็นขณะออกทริป

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น


การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันที่หลายคนอาจมองข้าม เพราะคิดว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็แค่โทรเรียกรถฉุกเฉิน หรือไปโรงพยาบาลก็พอแล้ว แต่คิดกลับกันว่าถ้าเราไปท่องเที่ยวพวกเดินป่า เที่ยวน้ำตก เดินขึ้นดอย ไต่เขา หรือไปต่างถิ่นที่ไม่คุ้นเคย ความรู้เรื่องปฐมพยาบาลเบื้องต้นจำเป็นอย่างยิ่งเพราะหากได้รับบาดเจ็บระหว่างทาง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะช่วยลดความรุนแรง บรรเทาอาการบาดเจ็บและอาจช่วยลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นก่อนจะถึงมือหมอได้ วันนี้น้องเป็ดรวมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่นักท่องเที่ยวอย่างเราต้องรู้ อย่างน้อยจะได้ช่วยเพื่อนร่วมทริป รวมไปถึงตัวเราเอง หากได้รับบาดเจ็บก่อนจะส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที


ปฐมพยาบาลเบื้องต้น แผลถลอก หกล้ม

  • ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ น้ำสะอาด หรือน้ำเกลือสำหรับล้างแผล (Sodium Chloride 0.9% w/v) ล้างบาดแผลให้เรียบร้อย อย่าให้มีเศษหิน ทรายอยู่ตกค้างในแผล
  • ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆ บาดแผล เพื่อฆ่าเชื้อโรครอบบาดแผล
  • ชุบสำลีด้วย เบตาดีน หรือโปรวิดี ไอโอดีน เช็ดตรงบาดแผลอย่างเบามือ

ข้อห้าม: ห้ามใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล


ปฐมพยาบาลเบื้องต้น แผลฟกช้ำ

  • ประคบบริเวณที่ฟกช้ำด้วยผ้าเย็น ถุงเจลเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็ง
  • พยายามลดการเคลื่อนไหวบริเวณฟกช้ำ

ปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากของมีคมบาด มีรอยแผลลึกกว่าแผลถลอก

  • ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ น้ำสะอาด หรือน้ำเกลือสำหรับล้างแผล (Sodium Chloride 0.9% w/v)
  • ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆ บาดแผล เพื่อฆ่าเชื้อโรครอบบาดแผล
  • ชุบสำลีด้วย เบตาดีน หรือโปรวิดี ไอโอดีน เช็ดตรงบาดแผลอย่างเบามือ

ข้อห้าม: ห้ามใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล  และอย่าให้แผลโดนน้ำ


ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เลือดกำเดาไหล

  • บีบจมูกประมาณ 5 นาที หายใจทางปากไปก่อน
  • นั่งตัวตรง ก้มหน้าเล็กน้อย หรือหากนอนให้นอนยกหัวสูง
  • ประคบเย็นบริเวณหน้าผาก จมูก แก้ม

ข้อห้าม: ห้ามเงยหน้า ห้ามแคะจมูก


ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นลม

  • หาสถานที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มุงดูกัน
  • จับคนที่เป็นลม นอนศีรษะต่ำ ปลดเสื้อผ้าเข็มขัดให้หลวม
  • หาผ้าเย็นชุบน้ำเย็น เช็ดหน้า คอ แขน ขา
  • หากเริ่มรู้สึกตัวแล้วให้นอนพักสักระยะหนึ่ง
  • เมื่อดีขึ้นแล้ว ให้ดื่มน้ำหวาน หรือน้ำ

ปฐมพยาบาลเบื้องต้น แมลงสัตว์กัดต่อย (แมลงที่มีเหล็กใน)

  • เอาเหล็กในออกโดยการใช้ลูกกุญแจหรือของที่มีรูเหมือนลูกกุญแจ กดตรงจุดที่ถูกแมลงต่อย
  • ชุบสำลีด้วยแอมโมเนีย เช็ดบาดแผล
  • ประคบเย็นบริเวณที่ถูกต่อย ช่วยลดอาการปวด
  • ถ้ามีอาการแพ้ให้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล

ข้อห้าม: ห้ามปล่อยเหล็กในทิ้งไว้ในร่างกาย


ปฐมพยาบาลเบื้องต้น แมงป่องกัด งูกัด

  • ใช้น้ำเปล่าล้างทำความสะอาดบาดแผลก่อนอันดับแรก จากนั้นแยกตามชนิดสัตว์

ตะขาบกัด

  • รีบประคบเย็น ลดการบวม หากปวดกินยาพาราเซตามอลได้
  • หากมีอาการแพ้หายใจติดขัด หน้ามืด ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

แมงป่องกัด

  • ประคบร้อน ลดการบวม หากปวดกินยาพาราเซตามอลได้
  • หากมีอาการแพ้หายใจติดขัด หน้ามืด ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

งูกัด

  • ให้คนเจ็บอยู่นิ่งๆ เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด
  • ดามแผลบริเวณงูกัดด้วยไม้ พันด้วยผ้าสะอาด ไม่รัดเชือกบริเวณเหนือที่ถูกกัด
  • นำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

ข้อห้าม: ห้ามใช้ปากดูดเลือด ห้ามกรีดเปิดบาดแผลเด็ดขาด ห้ามทำการขันชะเนาะ


ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทากดูดเลือด ปลิงทะเลกัด

  • ใช้น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ เทรอบปากของมัน
  • หรือใช้ไม้ขีดจุดไฟจี้ที่ตัวของสัตว์
  • หรือใช้แป้ง ขี้เถ้า หรือทรายลูบตัวสัตว์
  • จากนั้นล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือยาฆ่าเชื้อโรค
  • กดแผลด้วยผ้าก๊อซ หรือทิชชูเพื่อห้ามเลือด

ข้อห้าม: ห้ามดึงทากและปลิงออกเอง เพราะแผลอาจจะฉีกขาด เลือดออกเยอะ


ปฐมพยาบาลเบื้องต้น แมงกะพรุนไฟ

  • รีบนำคนเจ็บขึ้นจากน้ำทันที
  • ล้างแผลด้วยน้ำทะเลเท่านั้น หรือถ้ามีน้ำส้มสายชูบริเวณนั้น ให้รีบราดน้ำส้มสายชูตรงบาดแผล ถ้ามีหนวดตรงแผล ให้คีบออก
  • หากไม่มีน้ำส้มสายชู ให้ล้างแผลด้วยน้ำทะเลเท่านั้น
  • หากมีอาการผิดปกติให้นำส่งโรงพยาบาลทันที

ข้อควรรู้: การรักษาพิษแมงกะพรุนทะเลด้วยผักบุ้งทะเล สามารถทำได้ แต่จะต้องใช้หลังจากที่ราดน้ำส้มสายชูแล้ว โดยการนำผักบุ้งทะเลล้างให้สะอาดแล้วคั้นเอานำของผักบุ้งทะเลมาทาเท่านั้น


กล่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid Kit)

มีติดตัวไว้ทุกการเดินทาง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ภาพจาก: www.freepik.com

นอกจากทักษะปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว กล่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือชุดปฐมพยาบาล เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีติดรถ ยิ่งใครที่ชอบเดินทางไกล เที่ยวแบบ Road Trip หรือเดินทางต่างถิ่น การมีสิ่งเหล่านี้ติดตัวไว้ จะช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บเบื้องต้นก่อนจะถึงมือหมอ ภายในกล่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือชุดปฐมพยาบาล จะประกอบด้วยชุดทำแผลเบื้องต้น ยารักษาโรคเบื้องต้น และอุปกรณ์อื่นๆ ดังนี้

ชุดทำแผลเบื้องต้น

  • น้ำเกลือล้างแผล
  • เบตาดีน หรือโปรวิดี ไอโอดีน
  • แอลกอฮอล์ 70%
  • ผ้าก๊อซ
  • พลาสเตอร์ปิดแผล
  • เทปปิดแผล
  • สำลี ก้านพันสำลี

ยารักษาโรคเบื้องต้น

  • ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล
  • ยาแก้ท้องเสีย
  • ยาแก้แพ้
  • ยาแก้เมารถ
  • ยาลดกรด
  • ยาแก้ท้องอืด
  • ยาทาแก้ปวด เคล็ดขัดยอก
  • ยาดม
  • โลชั่นคารามาย
  • ยากันยุง
  • ผงเกลือแร่

อุปกรณ์อื่นๆ

  • ไฟฉาย นกหวีด ถุงมือใช้แล้วทิ้ง กรรไกร เข็มกลัด ผ้าปิดตา ผ้ายืด ผ้าคล้องแขน ถุงพลาสติกสำหรับทิ้งขยะ

การนำยาโรคประจำตัวไปต่างประเทศ


ถ้าหากใครเตรียมตัวเดินทางไปต่างประเทศ และมีความจำเป็นจะต้องนำยาติดตัวไปด้วย จะต้องศึกษากฎหมายของประเทศที่เราจะเดินทางไป ในบางประเทศจะมียาบางชนิดที่ห้ามนำเข้ามา หากฝ่าฝืนอาจจะถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดี ทางที่ดีหากมีความจำเป็นจะต้องนำยารักษาโรคประจำตัว หรือยาบรรเทาอาการฉุกเฉินต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหายาทดแทน หากไม่มียาทดแทน ต้องติดต่อสถานทูตเพื่อขออนุญาตนำยาเข้าประเทศ มีการขอเอกสารใบรับรองแพทย์ระบุข้อมูลโรคและความจำเป็นในการใช้ยา (ฉบับภาษาอังกฤษ) และพกบัตรแพ้ยาติดตัวด้วย


ก่อนเตรียมตัวเดินทางอย่าลืมศึกษาวิธีการปฐมพยาบาล และกล่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid Kit) นอนหลับพักผ่อนให้เต็มอิ่มก่อนออกเดินทาง ศึกษาเส้นทางก่อนออกเดินทาง ดูด้วยว่าเส้นทางที่เราจะไปเที่ยวนั้น นอกจากจะมีสถานที่เที่ยวอะไรน่าสนใจแล้ว มีโรงพยาบาลด้วยหรือไม่ และหากใครมีโรคประจำตัว ต้องเอายาติดตัวไปด้วยนะ ส่วนใครที่เตรียมตัวพร้อมแล้วกำลังทริปท่องเที่ยวสักแห่ง น้องเป็ดมีแพลนแนะนำกับ เที่ยว เที่ยว ดอยอินทนนท์ 3 วัน 2 คืน ฟินกันธรรมชาติสูงสุดแดนสยาม หรือจะเที่ยวแบบ Road Trip ไปตามแพลนนี้เลย 5 เส้นทาง Road Trip ขับรถเที่ยวต่างจังหวัดแบบยกแก๊งค์


ผู้เขียน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ