การรถไฟปรับการเดินรถใหม่ งดขบวนรถข้ามจังหวัด 14 ขบวน
3,671 ครั้ง
5 พ.ค. 2563
3,671 ครั้ง
5 พ.ค. 2563
การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศงดเดินขบวนรถข้ามจังหวัดในเส้นทางต่างๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง พร้อมแจ้งให้ผู้โดยสารสามารถคืนค่าตั๋วโดยสารได้เต็มราคา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
โดยมีการประกาศงดเดินขบวนรถไฟ จำนวน 14 ขบวน ที่มีต้นทางปลายทางข้ามเขตจังหวัดทั้งหมด ดังนี้
1. ขบวนรถเร็วที่ 135 (กรุงเทพ – อุบลราชธานี)
2. ขบวนรถเร็วที่ 136 (อุบลราชธานี – กรุงเทพ)
3. ขบวนรถธรรมดาที่ 201 (กรุงเทพ – พิษณุโลก)
4. ขบวนรถธรรมดาที่ 202 (พิษณุโลก – กรุงเทพ)
5. ขบวนรถธรรมดาที่ 257 (ธนบุรี – น้ำตก)
6. ขบวนรถธรรมดาที่ 258 (น้ำตก – ธนบุรี)
7. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 415 (นครราชสีมา – หนองคาย)
8. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 418 (หนองคาย – นครราชสีมา)
9. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 421 (นครราชสีมา – อุบลราชธานี)
10. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 426 (อุบลราชธานี – นครราชสีมา)
11. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 439 (ชุมทางแก่งคอย – ชุมทางบัวใหญ่
12. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 440 (ชุมทางบัวใหญ่ – ชุมทางแก่งคอย)
13. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 489 (คีรีรัฐนิคม – สุราษฎร์ธานี)
14. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 490 (สุราษฎร์ธานี – คีรีรัฐนิคม)
สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการโดยสารรถไฟข้ามเขตพื้นที่จังหวัดต้องมีเอกสารรับรองความจำเป็นในการเดินทาง ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (แบบ ต.8-คค./รฟท.) เพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออก พื้นที่จังหวัดตามประกาศกรมขนส่งทางราง ประกอบการซื้อตั๋วโดยสาร แสดงตนก่อนขึ้นขบวนรถทุกครั้ง โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มดังกล่าวได้ตามลิ้งค์ https://bit.ly/3c6WmhB หรือขอรับแบบฟอร์ม ณ จุดจำหน่ายตั๋วโดยสารที่สถานีรถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศได้กำหนดวิธีปฏิบัติประกอบการซื้อตั๋วโดยสาร และการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มภายในสถานีรถไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.การจำหน่ายตั๋วโดยสาร กำหนดให้พนักงานจำหน่ายตั๋วขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดที่รับรอง หรือออกให้โดยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายก่อนจำหน่ายตั๋วทุกครั้ง
2.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานีรถไฟกำหนดให้นายสถานีถือปฏิบัติ และควบคุมผู้ประกอบการ พนักงานบริการ และผู้ใช้บริการ
– ให้เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และต้องจำกัดขยะมูลฝอยทุกวัน
– ให้เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และต้องมีการคัดกรองอาการป่วย ไข้ จาม ไอ หรือเป็นหวัดสำหรับพนักงานบริการ และผู้ใช้บริการตามขีดความสามารถ
– ให้สถานีและผู้ประกอบการจัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ที่เหมาะสม
– ให้นายสถานีและผู้ประกอบการลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสกัน
– ให้นายสถานีและผู้ประกอบการจัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ ที่นั่ง ระยะห่างระหว่างการเดิน รวมถึงการจัดให้มีพื้นที่รอคิว ที่มีที่นั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
– ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้เกิดความแออัด
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณข้อมูลจาก: ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย