tripgether.com

ผู้ป่วยโควิด-19 อยากกลับภูมิลำเนาต้องทำยังไง?

3,140 ครั้ง
10 ส.ค. 2564

สถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานครขณะนี้ยังมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการรักษา สาธารณสุขในหลายๆ จังหวัดจึงเริ่มออกประกาศพร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้กลับมารับการรักษาที่ภูมิลำเนาบ้านเกิดได้ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการจะกลับภูมิลำเนาต้องทำอย่างไร? ตามมาดูกันเลย


ผู้ป่วยโควิด-19 อยากกลับภูมิลำเนาต้องทำยังไง?

ผู้ป่วยโควิด-19 อยากกลับภูมิลำเนาต้องทำยังไง?


สำหรับรถไฟขบวนด่วนพิเศษที่รับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียวและสีเหลือง ได้มีการเดินทางส่งผู้ป่วยชุดแรกแล้วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาในเส้นทาง 7 จังหวัดภาคอีสานได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธาณี อำนาจเจริญ และยโสธร เป็นผู้ป้วยระดับสีเขียวและสีเหลือง จำนวน 137 คน เดินทางพร้อมทีมแพทย์และทีมบุคลากรทางการแพทย์

รอ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความประสงค์จะกลับต่างจังหวัด หากประเมินอาการป่วยแล้วเหมาะสมที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ จะมีการนำส่งตัวโดยมีรถตู้ รถบัส รถทัวร์ รถไฟ หรือเครื่องบิน สำหรับพาหนะที่เหมาะจะเดินทางไกลคือ เครื่องบิน และรถไฟ โดยเครื่องบินจะต้องเป็นผู้สุขภาพร่างกายแข็งแรงระดับหนึ่ง พร้อมทั้งได้รับใบรับรองแพทย์ โดยทั้งทางบก ทางอากาศ สพฉ. จะประสานงานพาหนะให้เพื่อความปลอดภัยระหว่างเดินทางจะมีทีมแพทย์ ทีมบุคลากรทางการแพทย์ติดตามไปด้วย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

  • ติดต่อผ่านเบอร์สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 15
  • หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/

 

ผู้ป่วยโควิด-19 อยากกลับภูมิลำเนาต้องทำยังไง?

 

กรมควบคุมโรคแนะนำวิธีปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปรักษาตัวที่บ้านเกิดสามารถทำได้ดังนี้

การเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง

  1. โทรประสานศูนย์รับคนกลับบ้านของจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุข
  2. เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น ผู้ขับรถหากไม่เคยติดเชื้อจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  3. เตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ รวมทั้งถุงขยะส่วนตัว
  4. เตรียมยาให้พร้อมทั้งยาบรรเทาอาการป่วยโควิด-19 และยารักษาโรคประจำตัว
  5. จัดเตรียมอาหารและน้ำให้เพียงพอตลอดการเดินทางไม่ควรแวะสถานที่อื่นระหว่างทาง
  6. เตรียมหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ กรณีเกิดการเจ็บป่วย หรือมีเหตุฉุกเฉินขณะเดินทาง
  7. เตรียมผลตรวจโควิด-19

การปฏิบัติตนระหว่างเดินทาง

  1. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดการเดินทาง
  2. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น
  3. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อน – หลัง รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ หรือหลังจากไอจาม
  4. ห้ามแวะพักระหว่างการเดินทาง ให้ตรงไปยังโรงพยาบาล หรือสถานที่ที่ได้รับแจ้งไว้เท่านั้น
  5. หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ ต้องล้างมือก่อนใช้ห้องน้ำและหลังใช้ห้องน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อโรคที่มือไม่เปื้อนพื้นผิวของห้องน้ำ

เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง

  • จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล หรือสถานที่ที่ได้รับประสาน เพื่อรับการรักษาหรือแยกกักตัว
  • ปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้ดูแลโรงพยาบาล หรือสถานที่แยกกักอย่างเคร่งครัด

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ไม่มีรถส่วนตัวไว้ใช้สำหรับเดินทางกลับภูมิลำเนาสามารถติดต่อ โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เพื่อให้ที่ดำเนินการจัดให้มีรถพยาบาล หรือพาหนะรับ-ส่งผู้ป่วย โดยสามารถขอรับค่าใช้จ่ายกับ สปสช. ได้ดังนี้

  1. ค่าพาหนะรับ-ส่งต่อผู้ป่วย อัตราจ่ายเป็นไปตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่าย เพื่อบริการสาธารณะสุขของสำนักงาน โดยกรณีใช้รถยนต์ จ่ายชดเชยตามระยะทางกรมทางหลวงไป-กลับ โดยจ่ายค่าชดเชยที่คำนวณได้แต่ไม่เกินที่เรียกเก็บ ดังนี้
    • ระยะทางไป-กลับ ไม่เกิน 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท
    • ระยะทางไป-กลับ มากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท
  2. ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ จ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการรับ-ส่ง/ผู้ป่วย

ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ


ผู้เขียน

ampampaamp
นัก(หัด)เขียน ที่ฝันอยากใช้ชีวิตเรียบง่าย เงียบสงบ กับธรรมชาติ ,ชื่นชอบเรื่องไลฟ์สไตล์ การแต่งบ้าน เบเกอรี่ พอๆ กับการท่องเที่ยว แต่มักใช้เวลาว่างหมดไปกับการนอนดูซีรีส์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ