tripgether.com

ฟ้าทะลายโจรมีผลยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 สธ. เผยผลวิจัยแนะกินทันทีเมื่อมีไข้

3,256 ครั้ง
20 เม.ย. 2563

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง พบมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้ และกำลังศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด- 19 ระดับความรุนแรงน้อย เดือนเมษายน – กรกฎาคมนี้ แนะกินทันทีเมื่อมีไข้ ไม่ควรกินเพื่อป้องกันโรค

fa thalay cor01


เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยดร.สุภาพร  ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการวิจัยฟ้าทะลายโจรกับไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการแพทย์แผนไทยฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม 

fa1

fa02

นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรคโดยที่ยังไม่มีอาการ เพราะไม่มีผลในการป้องกัน แต่ให้รับประทานทันทีเมื่อเริ่มมีอาการคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ (Flu-Like Symptoms) ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจอื่น โดยรับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง (ครั้งละประมาณ 1,500 มิลลิกรัม) หลังอาหารและก่อนนอน ส่วนสารสกัดฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 1 หรือ 2 แคปซูล เพื่อให้ได้รับสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 20 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร การรับประทานยาทั้งสองแบบในขนาดที่แนะนำ จะให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 60 มิลลิกรัม/วัน พ้อมทั้งแนะนำให้มียาฟ้าทะลายโจรเป็นยาประจำตัว/ประจำบ้าน อาจใช้ร่วมกับยาพาราเซตามอลได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์ 

fa03

ทั้งนี้ ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น หากมีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันทีและไม่ใช้อีก รวมทั้งควรระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต และการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้แขนขาชา หรืออ่อนแรง

สอบถามรายละเอียดที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ โทร. 0 2149 5678 หรือเว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th 

แหล่งงข่าวอ้างอิง สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสารณสุข


ผู้เขียน

admin tripgether
สัญญาว่าจะเที่ยวให้ดีที่สุด!!

เรื่องที่คุณอาจสนใจ