ในสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก และผู้ป่วยหลายรายที่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้เนื่องจากยังหาเตียงไม่ได้หรือไม่ทราบวิธีการติดต่อประสานงานเพื่อขอเตียง วันนี้ทริปเก็ทเตอร์ได้รวบรวมข้อมูลและขั้นตอนต่างๆ ในการประสานงานเพื่อขอเตียงสำหรับผู้ป่วย และวิธีการเบื้องต้นเพื่อสังเกตระดับอาการว่าเราเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มไหน จะต้องดูแลตัวเองอย่างไร
เมื่อรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโควิด-19 หาเตียงอย่างไร ต้องเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง
เมื่อรู้ว่าติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำอะไรบ้าง
ผู้ป่วยหลายคนเมื่อทราบผลตรวจแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ ต้องหาเตียงอย่างไร มาดูสิ่งที่ต้องเตรียมดังนี้
1.เอกสารที่ต้องเตรียม
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบแสดงผลตรวจโควิด-19 (ผลตรวจแบบ Real time RT-PCR)
2.ข้อมูลที่ต้องเตรียม
- ชื่อ-สกุล
- อายุ
- เพศ
- เลขบัตรประจำตัวประชาชน
- น้ำหนัก ส่วนสูง
- โรคประจำตัว
- สิทธิ์การรักษา
- โรงพยาบาลในสิทธิ์การรักษา
- อาการปัจจุบัน (โดยละเอียด)
- โรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เราไปตรวจโควิด-19 แจ้งวันที่ไปตรวจ และวันที่ได้รับผล
- ขอเอกสารใบแสดงผลตรวจโควิด-19 (ผลตรวจแบบ Real time RT-PCR)
ช่องทางการประสานงานขอเตียงผู้ป่วยโควิด
- โทร.สายด่วน 1668 แจ้งข้อมูล หรือ แอดไลน์ @1668.reg เมื่อแจ้งข้อมูลเรียบร้อยแล้วจะได้รับรหัสประจำตัว 5 หลัก ใช้สำหรับยืนยันข้อมูลของผู้ป่วย
- ติดต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) โทร.1330 กด 0 แจ้งข้อมูล หรือ ไลน์แอด @sabaideebot กรอกข้อมูลสำหรับการลงทะเบียนเพื่อหาเตียง
- สำหรับคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ แอดไลน์ @bkkcovid19connect จากนั้นใส่ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่ และแนบผลตรวจโควิด-19 จากนั้นแคปหน้าจอหน้าสุดท้าย ส่งให้อาสาสมัครเพจเราต้องรอด ทางอาสาสมัครเราต้องรอดจะประสานงานไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ์
- สำหรับผู้ที่อยู่ในจังหวัดนนทบุรี ติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โทร. 061 934 5402, 061 394 5403, 061 117 2534 และ 061 174 2260
- สำหรับผู้ที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานี ติดต่อสายด่วนชาวปทุมฯ โทร. 02 581 5658 หรือ 065 950 5772
- สำหรับผู้ที่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โทร. 063 192 9272 หรือ 063 192 9207
- หากทำตามขั้นตอนต่างๆ แล้วยังไม่ได้เตียง สามารถกรอกแบบฟอร์มจากทางเพจ Drama-addict https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdc1vwt6kAMOlXoMsgjc88DCjvrUUO7Qv6M1KqUhiNA1kQjnA/viewform?fbclid=IwAR3b4TXCtIBo8mDfrussV39Se1FdD6nZFskGcgkA16R20DZmG45FCZWty1A
การประเมินระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยโควิด-19
อาการกลุ่มสีเขียว
- ไม่มีอาการ
- มีไข้หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไป
- ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว
- ไม่มีอาการหายใจเร็ว ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย ไม่มีอาการหายใจลำบาก
- ไม่มีปอดอักเสบ
- ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ
อาการกลุ่มสีเหลือง
- มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญ ข้อใดข้อหนึ่ง
- แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกขณะทำกิจกรรม
- หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก เวลาไอแล้วเหนื่อย
- อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปอดอักเสบ
- ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ร่วมกับอาการหน้ามืด วิงเวียน
อาการกลุ่มสีแดง
- หอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยคขณะสนทนา
- แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจแล้วเจ็บหน้าอก
- ซึม เรียกไม่รู้สึกตัว หรือตอบสนองช้า
- ปอดบวมที่มี hypoxic (risting O2 saturation <96%) หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน SpO2 มากกว่าหรือเท่ากับ 3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง หรือภาพรังสีทรวงอกมี progression ของ pulmonary infiltrates
วิธีการดูแลตัวเองขณะที่ยังไม่ได้เตียง
หากมีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- พักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
- ดื่มน้ำมากๆ แนะนำว่าควรดื่มน้ำเรื่อย ๆ เมื่อดื่มน้ำเพียงพอ เมื่อสังเกตสีของปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน
- รับประทานยาพาราเซตามอลทุก 4-6 ชั่วโมง ครั้งละ 1 เม็ด
- เช็ดตัวบริเวณคอ หรือข้อพับต่าง ๆ เพื่อลดความร้อน
หากมีอาการไอ
- หลีกเลี่ยงการนอนราบ ให้นอนตะแคง หรือ นอนหมอนสูง
- รับประทานยาแก้ไอ หรือยาอมบรรเทาอาการไอ
- จิบน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น (ห้ามให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือนเด็ดขาด)
หากมีอาการหายใจลำบาก หายใจไม่สะดวก
- เปิดหน้าต่าง หรืออยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- หายใจช้าๆ ลึกๆ ทางจมูกและปาก เหมือนกำลังจะเป่าเทียน
- นั่งตัวตรง ไม่นั่งหลังค่อม ผ่อนคลายบริเวณหัวไหล่
- เอนตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย โดยใช้มือวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง และหายใจลึกๆ ยาวๆ จะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
- พยายามอย่าเครียด ตื่นตกใจ
- เวลานอนให้นอนตะแคง หรือนอนหมอนสูง
- หากมีอาการท้องเสีย หรืออาเจียน
- ให้งดอาหารประเภทนม โยเกิร์ต ผลไม้สด และอาหารย่อยยาก
- ชงเกลือแร่ ORS ผสมน้ำต้มสุก น้ำสะอาด สามารถจิบได้เรื่อยๆ ทั้งวัน (ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์)
- ถ้ารับประทานอาหารไม่ได้ ให้รับประทานน้อยๆ แต่บ่อยๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม, Nana Bhumirat, ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์, Drama-addict และเราต้องรอด