6 ปัจจัย ที่จะปลดล็อกดาวน์ประเทศไทย ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ได้จริงๆ
4,063 ครั้ง
27 เม.ย. 2563
4,063 ครั้ง
27 เม.ย. 2563
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลให้สถานการณ์หลายๆ อย่างได้เปลี่ยงแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และอีกมากมายที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน และจากการที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมโรค โดยกำหนดมาตรการเคอร์ฟิว และระงับการเปิดกิจการที่มีความเสี่ยง ทำให้หลายๆ คนตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่ที่ประเทศไทยจะปลอดล็อกดาวน์แบบ 100% จริงๆ? วันนี้ทริปเก็ทเตอร์มีข้อมูลดีๆ จาก ศบค. มาฝาก
ในกรณีที่มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้กิจกรรมบางประเภทสามารถกลับมาดำเนินการได้บ้างนั้น
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) หรือ ศบค.ได้แถลงถึงกรณีดังกล่าว โดยยกข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้ออกมาเตือนว่า การกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในหลายประเทศอาจจะยังเร็วเกินไป ความพยายามที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจอาจนำไปสู่การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สอง ดังนั้นจึงต้องทำด้วยความรอบคอบ และประสานงานกับทุกภาคส่วน
ทั้งนี้รัฐบาลที่ต้องการลดระดับมาตรการควบคุมโรค จำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ 6 ข้อดังนี้
1.สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว
2.ระบบสุขภาพต้องสามารถ “ตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค”
3.มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา
4.โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณะต่างๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ
5.สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้
6.คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค
แล้วเราจะกลับมาใช้ชีวิตได้เมื่อไร?
ศบค. ได้พูดถึงประเด็นนี้ในการแถลงประจำว่าที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมาว่า การที่เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้จริงๆ นั้น จะต้อง
-มียารักษาหายขาด ไม่ใช้แค่ยับยั้งหรือบรรเทา
-ต้องมีวัคซีนป้องกัน (คาดว่าจะมีปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นสัญญานที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะหายไป เพราะถ้าหากเรากลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม ก็อาจทำให้เชื้อไวรัสกลับมาระบาดระลอกสอง ซึ่งอาจจะรุนแรงกว่าเดิมและควบคุมสถานการณ์ได้ยากกว่าเดิม ดังนั้นการที่ทุกคนร่วมมือกันอยู่ในขณะนี้นับว่าเป็นการร่วมมือที่ดี ไม่เพียงแต่ดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคระบาด แต่เป็นความรวมมือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทยอีกครั้งด้วย