
แวะเหนือเที่ยวลำพูน สะพานขาวทาชมภู รอถ่ายรูปรถไฟวิ่งผ่าน
91 ครั้ง
24 มี.ค. 2568
91 ครั้ง
24 มี.ค. 2568
ชมวิวสวย รอถ่ายรูปรถไฟวิ่งผ่านที่ สะพานขาวทาชมภู อายุร้อยกว่าปี บนเส้นทางรถไฟสายเหนือ ใครที่เคยนั่งรถไฟขึ้นเหนือมาเชียงใหม่ จะได้ต้องเคยผ่านกับสะพานรถไฟสีขาวคอนกรีตทรงโค้งที่พาดผ่านลำน้ำทา ทุ่งนา ล้อมรอบด้วยภูเขาสีเขียว ซึ่งแตกต่างจากสะพานรถไฟแห่งอื่นที่เป็นเพียงสะพานโครงสร้างเหล็กสีดำ เรามาดูความสวยงามและประวัติศาสตร์นานนับร้อยกว่าปีของสะพานขาวทาชมภูแห่งนี้กัน
สะพานขาวทาชมภู สะพานประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ระหว่างสถานีขุนตาน และสถานีทาชมภู จ.ลำพูน เป็นสะพานที่เชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจาก อุโมงค์ขุนตาน เพื่อให้รถไฟที่มาจากลำปางสามารถขึ้นเหนือมายังเชียงใหม่ได้โดยสะดวก โดยสะพานขาวทาชมภูแห่งนี้ เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายในการสร้างทางรถไฟทั้งในเรื่องของสภาพภูมิประเทศ และช่วงเวลาการสร้างนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ยิ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือแห่งนี้
สะพานขาวทาชมภู เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2461 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2463 ซึ่งสะพานแห่งนี้มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากสะพานรถไฟแห่งอื่นๆ ที่ปกติจะมีโครงสร้างสะพานเหล็กสีดำ แต่สะพานขาวทาชมภู โครงคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ซึ่งเป็นการนำวิศวกรรมการทำสะพานจากทางยุโรปเข้ามาให้ในบ้านเราเป็นครั้งแรก
นอกจากโครงสร้างสะพานจะนำความรู้ทางด้านวิศวกรรมจากยุโรปมาสร้างสะพานแล้ว การออกแบบรูปทรงของสะพานแห่งนี้ ยังนำเอาสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาใช้เช่นกัน โดยลักษณะโค้งครึ่งวงกลมสีขาว มีความยาว 2 ช่วงกว้าง นอกจากความสวยงามแปลกตาในสมัยนั้นแล้ว ยังเป็นการออกแบบเพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะในสมัยนั้นมีหลายคนกว่าวว่าสะพานแห่งนี้จะไม่ทนทานแข็งแรง อยู่ได้เพียงไม่กี่เดือน เพราะเนื่องมาจากการทำสะพานด้วยคอนกรีตนั่นเอง
แม้ว่าสะพานรถไฟในไทยจะเป็นโครงสร้างเหล็ก ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถรองรับน้ำหนักการใช้งานได้หลายตัน แต่เหตุที่ทำให้สะพานทาชมภูแห่งนี้ทำมาจากคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะสะพานทาชมภูเริ่มสร้างในช่วง พ.ศ.2461 เพิ่งผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เหล็กที่จะนำมาใช้สร้างสะพาน ทางรถไฟค่อนข้างหาได้ยาก และที่สำคัญคือ วิศวกรคุมงานชาวเยอรมัน มิสเตอร์ อีมิลล์ ไอเซ่น โฮเฟอร์ ผู้คุมงานสร้างอุโมงค์ขุนตาน พร้อมทีมได้ถูกส่งกลับเยอรมันนี
ทำให้การคุมงานสร้างตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟ พระองค์จึงใช้วิธีการสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กตามหลักวิศวกรรมของยุโรปเข้ามาใช้ครั้งแรกจนแล้วเสร็จ และใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสะพานขาวทาชมภูว่า ครั้งหนึ่งสะพานขาวทาชมภู เคยเป็นสะพานสีดำ เพราะในช่วงนั้นฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา) จะทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางเดินรถไฟเพื่อตัดขาดการเดินทาง ด้วยสะพานมีสีขาวโดดเด่นสะดุดตาไม่ว่าจะมองจากพื้นราบ หรือมองทางอากาศก็ตาม จึงเป็นเป้าหมายในการทำลายครั้งนี้ ชาวบ้านจึงช่วยกันอำพรางสะพานโดยการทำให้สะพานมีสีดำ และรอดพ้นจากสายตาฝ่ายสัมพันธมิตร และอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อมาเที่ยวสะพานขาวทาชมภู เราจะเห็นว่าบริเวณนี้มีพื้นที่กว้างขวางมาก มีทั้งสวนหย่อมไว้สำหรับมานั่งเล่นถ่ายภาพ ให้อาหารปลา เช่าเรือเป็ดปั่นเล่นบริเวณแม่น้ำทา นั่งรอถ่ายรูปรถไฟวิ่งผ่านสะพานขาวทาชมภู หรือในช่วงที่รถไฟยังไม่มาก็สามารถเดินขึ้นไปถ่ายรูปกับสะพานทาชมภูได้ บอกเลยแต่ละมุมได้ภาพเก๋ๆ แน่นอน นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ยังมีกิจกรรมจดทะเบียนสมรสที่สะพานขาวทาชมภูอีกด้วย ทั้งนี้หากมาช่วงสาย – ช่วงบ่าย อากาศจะร้อน แดดจะแรงหน่อย เตรียมร่ม พัดลมพกพา ครีมกันแดดไปด้วยนะ
เที่ยวขึ้น – รถไฟเที่ยวที่วิ่งออกจากสถานีกรุงเทพ หรือสถานีที่ถัดมาจากสถานีกรุงเทพ ถึงสถานีปลายทางต่างๆ
เวลา: 03.08 น., 06.16 น. , 07.04 น., 11.18 น., 13.40 น., 18.14 น.
เที่ยวล่อง – รถไฟที่วิ่งออกจากสถานีต่างๆ เข้าสถานีกรุงเทพ และรวมถึงรถไฟที่วิ่งเข้าสถานีอื่นๆ ก่อนสถานีกรุงเทพด้วย
เวลา: 07.50 น., 09.50 น., 10.42 น., 16.30 น., 18.00 น., 19.00 น.
ข้อควรปฏิบัติ: ทั้งนี้ควรอยู่ห่างจากรถไฟประมาณ 2 เมตร เพื่อความปลอดภัยนะคะ
ใครที่ชอบการเดินทางด้วยรถไฟ หรือชอบถ่ายรูปรถไฟสวย น้องเป็ดแนะนำไปเก็บแลนด์มาร์กรถไฟสวยๆ 9 แลนด์มาร์กบน เส้นทางรถไฟ ถ่ายรูปสวยสุดชิค เตรียมกล้องรอไว้เลย รวมทริปนั่งรถไฟ 9 เส้นทางนั่งรถไฟเที่ยว จากกรุงเทพแบกเป้ชิลล์ๆ ตะลุยหลากหลายจุดเช็คอิน หรือโกอินเตอร์ใกล้ไทยไปเที่ยวฮานอยกับ แวะนั่งริมทาง ถนนรถไฟฮานอย รอถ่ายรูปคู่รถไฟแบบใกล้ชิด