tripgether.com

ลูกจ้างต้องรู้! สิทธิประกันสังคมปี 2564 และชดเชยคนว่างงานช่วง COVID-19

15,668 ครั้ง
12 ม.ค. 2564

ในช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ทำให้มนุษย์ออฟฟิศหลายๆ คนกังวลใจเรื่องการเงินและเรื่องของสุขภาพเป็นอย่างมาก วันนี้ทริปเก็ทเตอร์ขอชวนเพื่อนๆ ชาวมนุษย์เงินเดือน (มาตรา 33) และเพื่อนๆ ฟรีแลนซ์ (มาตรา 39) ที่ส่งเงินสมทบประกันสังคม มาอัปเดตสิทธิกองทุนประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป มีความคุ้มครองด้านไหนบ้างที่เราจะได้เพิ่มและมีเงินสมทบด้านไหนบ้างที่จ่ายน้อยลง ตามมาดูกันเลย!!


สิทธิประกันสังคม

1.ลดเงินสมทบ 3 เดือน

ปกติแล้วการส่งเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 33 แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ นายจ้างจ่าย 5% ของรายได้ และลูกจ้างจ่าย 5% ของรายได้ สำหรับเงินเดือน 15,000 บาท จะจ่ายไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน โดยอัตราเงินสมทบใหม่จะมีผลต่อผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ดังนี้

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 3% หรือสูงสุด 450 บาท (นายจ้างจ่ายให้อีก 450 บาท)
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 278 บาท จากเดิม 432 บาท
  • เริ่มเก็บเงินสมทบอัตราใหม่ตั้งแต่เดือน มกราคม – มีนาคม 2564

ใครได้บ้าง? = ลูกจ้างมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ยังอยู่ในระบบ
จำนวนเงินที่ได้รับต่อปี (รอบปีปฏิทิน) : ลดเงินสมทบ มกราคม – มีนาคม 2564


2.ปรับเเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาท

จากเดิมผู้ประกันตนในประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 600 บาท แต่ในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้น เงื่อนไขดังนี้

  • ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็นเดือน เดือนละ 800 บาท
  • จ่ายให้เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี โดยจ่ายครั้งละไม่เกิน 3 คน
  • งวดของเดือนมกราคม จะเริ่มจ่ายตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป

ใครได้บ้าง? = ลูกจ้างที่มีบุตรไม่เกิน 3 คน
จำนวนเงินที่ได้รับต่อปี (รอบปีปฏิทิน) : 800 x 4 = 3,200 บาท


3.ปรับเงินค่าคลอดบุตร เหมาจ่ายครั้งละ 15,000 บาท

สำหรับลูกจ้างที่ตั้งครรภ์ในปี 2564 นี้ จะได้รับค่าคลอดบุตรครั้งละ 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป จากเดิมผู้ประกันตนจะได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท ปัจจุบันปรับค่าคลอดบุตรใหม่จะเพิ่มมาอีก 2,000 บาท

  • ในส่วนของเงินสงเคราะห์การหยุดงาน จะได้รับ 50% ของเงินเดือน (ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) เป็นเวลา 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง จะได้รับเฉพาะผู้ประกันตนหญิงที่หยุดงานเท่านั้น ผู้ประกันตนชายจะเบิกส่วนนี้ไม่ได้

ใครได้บ้าง? = ลูกจ้างเพศหญิงที่กำลังตั้งครรภ์, ลูกจ้างเพศชายที่มีภรรยาตั้งครรภ์
จำนวนเงินที่ได้รับต่อปี (รอบปีปฏิทิน) : 15,000 บาทต่อครั้ง


4.ประกันสังคมช่วยค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท

ลูกจ้างที่ตั้งครรภ์มีโอกาสเข้าถึงการฝากครรภ์ เพื่อให้เข้าตรวจสอบความแข็งแรงของเด็กในครรภ์ ประกันสังคมช่วยค่าฝากครรภ์เพิ่มอีก 500 บาท เป็นปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์จากเดิม 1,000 บาท รวมเป็น 1,500 บาท ตลอดอายุครรภ์ โดยต้องยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมใบรับรองแพทย์ และใบเสร็จยืนยันการฝากครรภ์แต่ละไตรมาส ดังนี้

  1. อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท
  2. อายุครรภ์ 12 – 20 สัปดาห์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาท
  3. อายุครรภ์ 20 – 28 สัปดาห์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาท
  4. อายุครรภ์ 28 – 32 สัปดาห์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 200 บาท
  5. อายุครรภ์ 32 – 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายตามจริงไม่เกิน 200 บาท
  • เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

ใครได้บ้าง? = ลูกจ้างเพศหญิงที่กำลังตั้งครรภ์
จำนวนเงินที่ได้รับต่อปี (รอบปีปฏิทิน) : 1,500 บาทต่อ 5 ครั้ง


5.ว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ได้เพิ่มจาก 30% เป็น 50%

ตามปกติแล้วผู้ประกันตนจะได้รับเงินกรณีว่างงานจากประกันสังคม จะต้องเป็นผู้ที่ส่งสมทบมาเกิน 180 วัน จึงจะเกิดสิทธิ์ และได้รับเงินชดเชยว่างงาน 30% จากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท ได้สูงสุด 90 วันต่อปี
วิธีคิดคือ 15,000 x 0.3 x 3 เดือน = 13,500 บาท

  • ฉะนั้นผู้ที่ลาออกโดยสมัครใจ และว่างงานจากการสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดก็จะไม่เข้าข่ายว่างงานจากเหตุสุดวิสัย แต่หากว่างงานตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2563 เนื่องจากมีคำสั่งระบุให้กักตัว หรือคำสั่งปิดพื้นที่ ให้กรอกใบคำรับผลประโยชน์ทดแทน (สปส. 2-01/7) ส่งให้นายจ้างยื่นไปยังประกันสังคมที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ผ่านรับบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม โดยจะได้รับเงินชดเชยว่างงาน 30% จากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท ได้รับสูงสุด 90 วันต่อปี เท่านั้น วิธีคิด คือ 15,000 x 0.5 x 3 เดือน = 22,500 บาท
  • เริ่มตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2563 ยื่นคำร้องได้ตั้งแต่ 4 มกราคม 2564

ใครได้บ้าง? = ลูกจ้างมาตรา 33
จำนวนเงินที่ได้รับต่อปี (รอบปีปฏิทิน) : สูงสุด 22,500 บาท (ลาออกเองได้ชดเชยสูงสุด 13,500 บาท)

ขอรับประโยชน์ทดแทน


6.ถูกเลิกจ้างประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่

ในกรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชย ร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท แตกต่างจากการว่างงาน ตรงที่ได้รับชดเชยต่อปีสูงสุด 180 วัน เพราะฉะนั้นผู้ที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับการชดเชย ตามวิธีคิดดังนี้ 15,000 x 0.5 x 6 เดือน = 45,000 บาท

ใครได้บ้าง? = ลูกจ้างมาตรา 33 ที่ถูกเลิกจ้าง
จำนวนเงินที่ได้รับต่อปี (รอบปีปฏิทิน) : 45,000 บาท

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
  • บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
  • หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6-09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส. 6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
  • หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 9 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) 
    1. ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
    2. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) 
    3. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) 
    4. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)
    5. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
    6. ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
    7. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
    8. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
    9. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ชดเชยว่างงานช่วงโควิด-19

ลิ้งก์ดาวน์โหลด: แบบคําขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)

ประกันสังคม


ผู้เขียน

ampampaamp
นัก(หัด)เขียน ที่ฝันอยากใช้ชีวิตเรียบง่าย เงียบสงบ กับธรรมชาติ ,ชื่นชอบเรื่องไลฟ์สไตล์ การแต่งบ้าน เบเกอรี่ พอๆ กับการท่องเที่ยว แต่มักใช้เวลาว่างหมดไปกับการนอนดูซีรีส์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ