กรมอุทยานฯ จัดระเบียบการท่องเที่ยวอุทยานใหม่ อย่างน้อยปีละ 2 เดือน
3,557 ครั้ง
15 พ.ค. 2563
3,557 ครั้ง
15 พ.ค. 2563
กรมอุทยานฯ ปรับตัวจัดระเบียบ ท่องเที่ยววิถีใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาล อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื่อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ซึ่งเป็นผลดีต่อธรรมชาติและสัตว์ป่า ที่ออกมาปรากฎตัวให้เห็นหลังจากที่ปิดทำการอุทยาน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ สัตว์หายาก ได้ออกมาเดินเล่น และว่ายน้ำกันอย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทยที่มีสัตว์ป่าออกมาไม่ว่าจะเป็น การปรากฏตัวของหมี และเสือดาวบนถนน รอบอุทยานแห่งชาติ หรือกระทั่งการรวมฝูงกันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบันทึกของประเทศไทยที่สามารถเห็นโลมาปากขวดนับร้อยตัวว่ายน้ำเล่นกับเรือตรวจการณ์ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิมิลัน และการบันทึกภาพ พบฝูงพะยูนมากกว่า 30 ตัว ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ นายสัตวแพทย์ (นสพ.) ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่สุด เพราะโอกาสที่พะยูนจะมารวมฝูงกันมากมายขนาดนี้แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาเลย เพราะอย่างมาก เราจะเห็นพะยูนพร้อมกันมากที่สุดไม่เคยเกิน 5-6 ตัวเท่านั้น เพราะสัตว์พวกนี้ค่อนข้างจะอ่อนไหว ขี้กลัว ขี้หวาดระแวง การปรากฏตัวในรูปแบบว่ายน้ำตีกรรเชียงอย่างสบายใจเช่นนี้ เพราะพวกมันเกิดความมั่นใจต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวว่าปลอดภัย
การรวมตัวเป็นฝูง เป็นโขลง หรือเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็นโอกาสที่ดีของการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างมาก เพราะการมารวมตัวกันทำให้สัตว์เหล่านี้ได้มีโอกาสเหมือนกับการเลือกคู่ ที่มีความหลากหลาย ทำให้สัตว์ที่จะเกิดมาในรุ่นต่อไปเป็นสายพันธุ์ที่ดี มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น กรมอุทยานฯได้ร่วมหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า นับแต่นี้ต่อไป จะให้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศทั้ง 133 แห่ง ทำแผนปิดพื้นที่อุทยานเพื่อให้ทรัพยากรในพื้นที่ได้ฟื้นฟูตัวเอง ปีละ 1 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ถึงแม้ว่าจะเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ได้กลับมาอย่างเห็นได้ชัดคือ การฟื้นคืนมาของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นมูลค่ามหาศาลที่ประเมินราคาไม่ได้ ต่อไปนี้จะต้องปิดทำการ คือ ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ เพื่อให้ทรัพยากร สัตว์ป่าได้พัก ได้ฟื้นฟูตัวเอง อย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ตัวอย่าง อุทยานเขาใหญ่ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมามาก อันดับต้นๆ ของประเทศ ปัญหาก็มีมาก เช่น เรื่องขยะที่เกิดขึ้น มีสัตว์ป่าออกมากินขยะ และที่ผ่านมาไม่เคยปิดเขาใหญ่เพื่อให้ทรัพยากรได้พักจากการไปท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเลย
อย่างไรก็ตาม สำหรับอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ปกติก็จะปิดทำการอยู่แล้วปีละ 1 ครั้งในช่วงฤดูมรสุม ก็ต้องทำแผนเพิ่มเติมเข้ามาช่วงที่ปิดทำการนั้นจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีวิธีปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลจะมีความแตกต่างจากอุทยานทางบก คือ มีเรื่องของการท่องเที่ยวที่บริษัททัวร์บางแห่งอาจจะเปิดการขายตั๋วล่วงหน้า สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อุทยานจึงต้องประกาศเป็นนโยบายออกมาให้ทราบชัดเจนว่าจะมีการปิดทำการในช่วงวันไหน เพื่อให้บริษัททัวร์ได้บริหารจัดการเวลาได้อย่างเหมาะสมด้วย
”การปิดทำการอุทยานแห่งชาตินั้นจะปิดเฉพาะเรื่องการบริการนักท่องเที่ยว ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไป แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนยังคงปฏิบัติงานทุกวันตามปกติ โดยเฉพาะเรื่องการลาดตระเวนรักษาป่า เจ้าหน้าที่ทุกคนยังปฏิบัติงานทุกวันตามเดิม”Ž
การพักให้ธรรมชาติได้พักผ่อน ถือเป็นเรื่องราวดีดีที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด เมื่อคนหยุด ธรรมชาติก็ได้พัก เพื่อที่ธรรมชาติจะได้รักษาสมดุลและเราเองจะได้มาธรรมชาติสวยๆ ไว้ชื่นชมตลอดไป