ลุ้นปลดล็อกเฟส 2 ปล่อย 8 กลุ่มกิจการ
3,897 ครั้ง
11 พ.ค. 2563
3,897 ครั้ง
11 พ.ค. 2563
ลุ้นปลดล็อกเฟส 2 ปล่อย 8 กลุ่มกิจการ ได้แก่ ร้านอาหาร/ภัตตาคาร, ห้างสรรพสินค้า, สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ/สปา, สถานเสริมความงาม, สถานบริการฟิตเนส/สนามกีฬาในร่ม/โรงยิม, การจัดประชุม/อบรม/สัมมนา ภายในองค์กร, กองถ่ายภาพยนต์/ถ่ายแบบ/ถ่ายคลิป, สวนสนุก/สวนน้ำ ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2563
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.63 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ขอบคุณผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือ ภายหลังที่รัฐบาลคลายล็อกมาตรการกิจการในระยะที่ 1 ไปแล้ว พร้อมแย้มข่าวดีวันที่ 17 พ.ค.นี้ คาดว่าจะประกาศผ่อนปรนเปิดกิจการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้าในระยะ 2 แต่ขอให้ทุกคนช่วยกันคงตัวเลขผู้ป่วยหลักเดียวเอาไว้
ซึ่งสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ของไทยในวันที่ 11 พ.ค. 2563 ยังมีผู้ป่วยใหม่เป็นเลขหลักเดียว โดยมีรายใหม่เพิ่มขึ้น 6 คน รวมตัวเลข 3,015 คน หายป่วยแล้ว 2,796 คนและยังรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 163 คน และผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 56 คน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในวันที่ 8-12 พ.ค.นี้ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเภทกิจการ และกิจกรรมต่างๆ ที่เตรียมจะคลายล็อกเพิ่มเติม โดยวันที่ 13 พ.ค.จะมีการซักซ้อมความเข้าใจ และยกร่างผ่อนปรนระยะที่ 2
ภายในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เพิ่มเติม ดังนั้นจึงขอความร่วมมือในการป้องกันไม่ให้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่ม ในช่วงอีก 10 วันข้างหน้านี้ ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2 เป็นกิจการขนาดใหญ่ที่จะมีคนพลุกพล่านมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการ และประชาชนต้องยอมรับและร่วมมือกัน เช่น ถ้ามีการออกกฎมาตรการต่างๆมาแล้ว ต้องยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โฆษกศบค.กล่าวอีกว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอให้คงมาตรการในประเทศให้เข้มข้น และตรึงการนำเข้าของเชื้อจากต่างประเทศให้ได้ เพื่อให้ไทยมีตัวเลขหลักเดียวต่อไป โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แนะว่าให้มีมาตรการเฉพาะของกิจกรรมและกิจการต่างๆ ด้วย เช่น รถไฟฟ้า โดยเน้นให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมและแก้ปัญหาเพื่อลดความแออัด
ข้อสรุปในที่ประชุมที่เห็นตรงกันคือ การเหลื่อมเวลาทำงาน โดยเบื้องต้นอาจต้องมีการเหลื่อมหลายช่วงเวลา เพื่อลดความแออัดในสถานที่ขนส่งมวลชน เพราะประชาชนยังไปทำงานกันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น และยังต้องเน้นย้ำเรื่องการ Work From Home และ social distancing ต่อไป