tripgether.com

5 วิธีไปเที่ยวทะเลอย่างไร ให้ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

2,468 ครั้ง
24 เม.ย. 2563

ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังระบาด มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของธรรมชาติ ที่หลายคนอาจจะได้เห็นภาพที่เผยแพร่ตามโซเชียลมีเดีย ว่ามีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ หรือพบเห็นงพะยูฝูนออกมาแหวกว่ายโชว์ตัวกันอย่างเริงร่า เนื่องจากมนุษย์หยุดอยู่บ้าน ทำให้ธรรมชาติได้หยุดพัก ถือว่าเป็นหนึ่งในเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตแบบนี้ แต่หากไวรัสซาลง ผู้คนเริ่มออกไปเที่ยวเหมือนเดิม เราจะยังเห็นภาพความน่ารักที่หาดูได้ยากแบบนี้อีกหรือไม่ เป็นทั้งคำถามปนความกังวล วันนี้เราจึงมาแนะ How To ไปเที่ยวทะเลอย่างไรให้ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด วิธีการเหล่านี้อาจจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนแล้วล่ะ เพราะเราต่างก็หวังว่าจะได้เห็นภาพเหล่านี้อีกหลายๆ ครั้งใช่ไหมล่ะ

AW_200427_0872


1.ลดการใช้พลาสติก

พลาสติกถือว่าเป็นตัวการใหญ่ที่ทำร้ายสัตว์ทะเลเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นสิ่งที่ย่อยสลายยาก และทุกปีจะมีพลาสติกจำนวนกว่า 8 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล จึงเข้าไปทำลายธรรมชาติใต้น้ำ ฆ่าสัตว์ทะเลไปนับหมื่นตัว โดยเฉพาะวาฬ โลมา พะยูน เต่าทะเล กระเบนและสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ถูกคร่าชีวิตไปโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หากพวกเราสามารถลดการใช้พลาสติกได้ โดยการหันมาใช้ถุงผ้า แก้วน้ำพกพา หลอดใช้ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงการใช้ Single Use Plastic ให้ได้มากที่สุด ก็จะสามารถเซฟชีวิตสัตว์น้ำเหล่านี้ให้อยู่คู่ทะเลให้นานขึ้นได้นะ

01
ฝูงพะยูนหลายสิบตัวแหวกว่ายบริเวณแหลมจูโหย เกาะลิบง จ.ตรัง (วันที่ 22 เมษายน 2563)
Credit: ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง


2.ใช้ครีมกันแดดปลอดสารเคมี

อากาศก็ร้อน น้ำทะเลก็อยากเล่น ไปทะเลทั้งทีจะมัวมานั่งอยู่แต่ในร่มไปทำไม สาวๆ หลายคนจึงเลือกใช้วิธีทาครีมกันแดด แต่รู้ไหมว่าในครีมกันแดดหลายๆ ยี่ห้อนั้นมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิดที่ทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมลง โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวก็ได้ อย่างงานวิจัยจากหลายๆ แห่งพบว่า ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Oxybenzone มีส่วนทำลายแนวปะการังสูง หากเรามีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมสักหน่อย ลองสังเกตหรือเลือกครีมกันแดดที่ปลอดภัยต่อแนวปะการังหรือ Reef Safe ซึ่งในไทยมีอยู่หลายยี่ห้อ สามารถดูที่ฉลากได้ หรือจะใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ และครีมกันแดดที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegradable) เพียงแค่พิถีพิถันในการเลือกใช้สักนิด เท่านี้ก็จะสามารถลดการทำลายปะการังได้แล้ว

04

04
แนวปะการังยังอยู่ในสภาพปกติ ไม่ฟอกขาว บริเวณเกาะไม้ท่อน เกาะเฮ เกาะโหลน อ่าวตั้งเข็ม อ่าวป่าตอง อ่าวกะรน จ.ภูเก็ต และเกาะไข่ จ.พังงา (วันที่ 21 เมษายน 2563)
Credit: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


3.เคารพกฎระเบียบ

แน่นอนว่าการไปเที่ยวตามเกาะ ตามหาดต่างๆ หรือการดำน้ำ จะต้องมีกฎระเบียบที่เรารู้ๆ กัน อย่างเช่น ไม่เหยียบปะการัง, ไม่ให้อาหารปลา, ไม่ตกปลาในเขตอนุรักษ์, ไม่คุกคามสัตว์ทะเล, ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง, ไม่สร้างมลภาวะทางน้ำ และอื่นๆ สิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่เราควรมีความรับผิดชอบ ที่สำคัญควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากว่าอยากไปเที่ยวทะเลอย่างสบายใจ ต้องไม่ลืมกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีกันนะจ๊ะ

06
นากโผล่นอนเล่นน้ำริมหาดสุดไพรเวท หลังปิดหาดไร้นักท่องเที่ยว บริเวณหาดในหาน จ.ภูเก็ต (วันที่ 30 มีนาคม 2563)
Credit: Environman


4.เลือกรับประทานอาหารทะเล

ปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากมีการจับสัตว์น้ำในปริมาณที่เยอะเกินไป รวมถึงการประมงที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นอาจเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่คุณสามารถกำหนดทิศทางของการประมงได้ไม่มากก็น้อย อย่างการเลือกกินสัตว์ทะเลที่ไม่อยู่ในกลุ่มที่ถูกคุกคาม อย่างเช่นไม่กินหูฉลาม เนื้อฉลาม ครีบปลากระเบน ปลานกแก้ว หรืออื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้างแล้ว สิ่งสำคัญคือจะต้องลงมือทำเลย! หรือสนับสนุนการบริโภคอาหารทะเลจากประมงท้องถิ่นก็สามารถช่วยได้นะ

03
ฝูงโลมาอิรวดีว่ายน้ำเล่นอย่างสนุกสนาน บริเวณเกาะช้าง จ.ตราด (วันที่ 17 – 24 เมษายน 2563)
Credit: ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด


5.ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

หลายคนคงเคยได้ยิน ‘ปรากฏการณ์ทะเลกรด’ ที่เกิดมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำทะเลดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศมากขึ้น จนเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งมีผลกระทบต่อการลดลงของโครงสร้างแข็งภายนอกของสัตว์ทะเล อย่างหอย กุ้ง เม่นทะเล หรือแม้แต่ปะการัง ที่ไม่สามารถสร้างและบำรุงรักษาเปลือกและโครงสร้างแข็งภายนอกของตัวเองได้ ทำให้สัตว์ทะเลและปะการังอ่อนแอลง หากใครได้ติดตามข่าวสารก็จะเห็นว่าสัตว์ในมหาสมุทรกำลังตกอยู่ในอันตรายเพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รู้อย่างนี้แล้วเราจึงควรที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ให้น้อยลง เปลี่ยนมาใช้วิธีทางเดียวกันไปด้วยกัน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศหรือปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม และการเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลกระทบต่อทะเลให้ได้มากที่สุด

02
 โลมาว่ายน้ำโผล่ขึ้นมาหายใจและบิดตัวขณะกระโดด บริเวณหาดหยงหลิง
 Credit: ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง


ผู้เขียน

admin tripgether
สัญญาว่าจะเที่ยวให้ดีที่สุด!!

เรื่องที่คุณอาจสนใจ